จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงาน

จริยธรรมของผู้เขียน (Author)

  1. บทความที่จะได้รับการพิจารณาลงตีพิมพ์จะต้องเป็นบทความที่ไม่เคยถูกตีพิมพ์ที่ใดมาก่อน และไม่ส่งต้นฉบับบทความซ้ำซ้อนกับวารสารอื่น และไม่มีการละเมิดลิขสิทธิ์หรือสิทธิบัตรใด ๆ
  2. เนื้อหาของบทความจะต้องเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของวารสารและบทความต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่น
  3. ผู้เขียนต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่น หากมีการนำผลงานเหล่านั้นมาใช้ในบทความของตัวเอง เช่น ภาพ หรือตาราง เป็นต้น
  4. ผู้เขียนบทความจะต้องปรับบทความตามรูปแบบและขนาดตัวอักษรตามแบบฟอร์ม (template) ของวารสารให้ถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์
  1. ผู้เขียนที่มีชื่อปรากฏในบทความทุกคน ต้องเป็นผู้ที่มีส่วนในการดำเนินการบทความจริง
  2. ผู้เขียนต้องตรวจสอบความถูกต้องของรายการเอกสารอ้างอิง ทั้งในแง่ของรูปแบบและเนื้อหา
  3. ผู้เขียนต้องรับรองว่าจะไม่ถอนผลงานจากการรับพิจารณาตีพิมพ์ หรือส่งผลงานเดียวกันนี้ไปตีพิมพ์ในวารสารอื่นภายใน 90 วัน นับจากวันที่โครงการวารสารมนุษยศาสตร์ฯ ได้รับบทความจากผู้เขียน
  4. ไม่ว่าในกรณีใดหรือในเวลาใด หากผลงานของผู้แต่งอยู่ระหว่างการดำเนินการหรือผ่านขั้นตอนการประเมินผลงาน โดยผู้ทรงคุณวุฒิ หากผู้เขียนมีความประสงค์จะถอนผลงานจากการรับพิจารณาตีพิมพ์ ผู้เขียนจักต้องตกลงชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดขึ้นกับโครงการวารสารมนุษยศาสตร์ฯ เป็นจำนวนเงินเท่ากับเงินสมนาคุณแก่ผู้ประเมินผลงาน โดยโครงการวารสารมนุษยศาสตร์ฯ จะได้จัดส่งผลการประเมินผลงานให้ผู้เขียนทราบ เมื่อการประเมินแล้วเสร็จ

 

จริยธรรมของบรรณาธิการ (Editor)

  1. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ เพื่อตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารที่ตนรับผิดชอบ และไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์ที่อื่นมาแล้ว
  2. บรรณาธิการต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียน และผู้ประเมินบทความแก่บุคคลอื่น
  3. บรรณาธิการมีหน้าที่พิจารณาตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยที่มีระเบียบวิธีวิจัยที่ถูกต้อง และให้ผลที่น่าเชื่อถือ โดยนำผลของการวิจัยมาเป็นตัวชี้นำว่า สมควรตีพิมพ์เผยแพร่หรือไม่
  4. บรรณาธิการต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน ผู้ประเมินบทความ และกองบรรณาธิการ
  5. บรรณาธิการต้องมีการตรวจสอบบทความในด้านการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) อย่างจริงจังและถูกต้อง
  6. เมื่อบรรณาธิการตรวจพบการคัดลอกผลงานของผู้อื่น จะต้องระงับการประเมินและติดต่อผู้เขียน เพื่อพิจารณาตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์การตีพิมพ์
  7. หากบรรณาธิการตรวจพบว่า บทความมีการลอกเลียนบทความอื่นโดยมิชอบ หรือมีการปลอมแปลงข้อมูล ซึ่งสมควรถูกถอดถอน แต่ผู้เขียนปฏิเสธที่จะถอนบทความ บรรณาธิการสามารถดำเนินการถอนบทความได้โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากผู้เขียน ซึ่งถือเป็นสิทธิและความรับผิดชอบต่อบทความของบรรณาธิการ

 

จริยธรรมของผู้ประเมิน (Reviewer)

  1. ผู้ประเมินบทความต้องไม่เปิดเผยข้อมูลในบทความแก่บุคคลอื่น ๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ
  2. ผู้ประเมินบทความควรประเมินด้วยความซื่อตรง ปราศจากอคติ และไม่มีเจตนาอื่นแอบแฝง
  3. หากผู้ประเมินบทความมีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียน ผู้ประเมินบทความจะต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบและปฏิเสธการประเมินบทความนั้น ๆ
  4. ผู้ประเมินบทความควรรับประเมินบทความเฉพาะสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญและเต็มศักยภาพ หากมีส่วนใดของบทความที่มีความเหมือนกัน หรือซ้ำซ้อนกับผลงานชิ้นอื่น ๆ ผู้ประเมินบทความต้องแจ้งให้บรรณาธิการทราบ